11 คำถาม ที่จะทำให้รู้ว่า คุณกำลังมีความเสี่ยงเป็นโรค “ข้อเสื่อม” อยู่หรือไม่?

อาการ ข้อเสื่อม ข้ออักเสบ

วันนี้ เข่าเสื่อม.net มีแบบทดสอบง่ายๆ ที่จะทำให้รู้ว่า คุณกำลังมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรค “ข้อเสื่อมอยู่หรือไม่มาให้ลองทำกัน ก่อนที่จะอ่านเนื้อหาด้านล่างค่ะ ถ้าทุกคนพร้อมแล้ว ก็ไปตอบคำถามกันเลย สำหรับใครที่ตอบว่าใช่มากกว่า 3 ข้อ ก็เตรียมอ่านต่อได้เลยนะคะ เพราะคุณอาจกำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเสื่อมได้

  1. มีอาการปวดข้อมานานเกิน 1 เดือนครึ่ง (6 สัปดาห์)
  2. อาการปวด เริ่มมาจากการปวดเป็นข้อๆ เพียง 1 – 2 ข้อก่อน เช่น ข้อมือ ข้อศอก ข้อเข่าฯลฯ
  3. ระดับความปวด อยู่ที่น้อย ถึง ปานกลาง และอาจมีอาการปวดมากขึ้นเมื่อต้องลงน้ำหนักที่บริเวณนั้น หรือใช้งานบริเวณนั้น
  4. อาการปวดจะน้อยลง หรือดีขึ้น เมื่อได้พักส่วนนั้นๆ
  5. ค่อยๆ ปวดในบริเวณนั้นๆ เริ่มจากน้อยๆ ก่อน แล้วค่อยๆ ปวดมากขึ้นช้าๆ ไม่ได้ปวดแบบกะทันหัน
  6. จะรู้สึกข้อฝืดตึงในตอนเช้า แต่จะมีอาการอยู่ไม่นาน (ไม่เกิน 30 นาที)
  7. มีอาการขาอ่อนแรง หรือเข่าพับ ขณะเดินๆ อยู่ดีๆ
  8. มีอาการบวมร่วมด้วยเล็กน้อย บริเวณรอบๆ ข้อ ที่มีอาการปวด
  9. ปวดส่วนไหน ข้อบริเวณส่วนนั้นจะไม่สามารถยืดตึงได้สุด เช่น กางแขน หรือ กางขา ได้ไม่สุด หากมีอาการปวดข้อศอก หรือข้อเข่า
  10. มีเสียงดังกรอบแกรบเมื่อขยับอวัยวะนั้นๆ
  11. ข้อนิ้วแข็ง และ โตขึ้น ถอดหรือสวมแหวนได้ลำบาก

หากใครที่ตอบว่า “ใช่” เกิน 3 ข้อขึ้นไป นั่นแสดงว่าคุณกำลังเสี่ยงที่จะเป็นโรคข้อเสื่อม หรืออักเสบ ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยละเอียดอีกครั้ง

ผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นโรคข้อเสื่อม

– ผู้สูงอายุไม่ว่าจะเป็นชาย หรือหญิง อายุระหว่าง 50 – 60 ปี หรืออาจมีอายุน้อยกว่านี้ก็ได้ (โดยพบว่าผู้หญิงมีโอกาสเป็นข้อเสื่อมมากกว่า)
– ผู้ที่มีโครงสร้างทางร่างกาย หรือข้อต่างๆ ผิดปกติมาตั้งแต่กำเนิด หรือหลังจากได้รับอุบัติเหตุรุนแรง
– ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินค่ามาตรฐาน
– ผู้ที่มีกล้ามเนื้อต้นขาไม่แข็งแรง
– ผู้ที่ใช้งานร่างกายอย่างหักโหม

4 วิธีลดความเสี่ยงในการเป็นโรคข้อเสื่อม

  1. สร้างกล้ามเนื้อในร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  2. ควบคุมน้ำหนักให้พอดี ไม่ให้เกินค่ามาตรฐาน
  3. ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ และเสริมสร้างกระดูกด้วยอาหารที่มีแคลเซียม และ วิตามิน D เช่น นม, ปลาเล็กปลาน้อย, ผักใบเขียว
  4. หากมีอาการปวดตามข้อบ่อยๆ หรือนานๆ ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนที่อาการจะรุนแรงขึ้น

ในปัจจุบัน ผู้ที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมเริ่มมีอายุน้อยลงทุกที ไม่ได้จำกัดแค่ผู้สูงอายุอีกต่อไป เนื่องจากอาหารที่รับประทานเข้าไป อาจไม่มีประโยชน์หรือมีสารอาหารที่ดีพอ น้ำหนักตัวที่มากเกินมาตรฐาน รวมถึงในบางคนที่มีความผิดปกติทางร่างกายที่อาจทำให้กระดูกไม่แข็งแรงเท่าที่ควร ล้วนมีส่วนทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าคนอื่น แต่อย่างไรก็ตาม การหมั่นสังเกตตัวเอง และปรึกษาแพทย์เมื่อมีอาการข้างต้น จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดค่ะ

ขอขอบคุณ
ข้อมูล : http://www.amarinpocketbook.com/Book_Detail.aspx?BID=6251
ภาพ : https://health.mthai.com/howto/health-care/16009.html
เรียบเรียง : ลองกานอยด์